Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

สร้างทุนนิยมให้พอเพียงได้อย่างไร


มีหลายท่านถามว่า การใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาและบริหารประเทศจะทำให้ประเทศไทยต้องอยู่โดดเดี่ยวจากประชาคมโลกที่ใช้ระบบการค้าเสรีตามวิถีของทุนนิยมหรือไม่ ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า การนำนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ได้หมายความว่า เราต้องยกเลิกนโยบายการค้าเสรี หรือระบบเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมแต่ประการใด

เศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการค้า มิได้ปฏิเสธทุนในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางกระแสของทุนนิยมได้อย่างไม่แปลกแยก โดยไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างสองแนวทางนี้

การศึกษาถึงพัฒนาการกว่าจะมาเป็นระบบเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า กระแสทุนนิยมมิได้เกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญโดยมิได้ตั้งใจ แต่เป็นการพัฒนาผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม จนกระทั่งมาถึงในยุคสารสนเทศ อีกทั้งยังได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพ อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจกระแสหลักของสังคมโลก ในขณะที่เศรษฐกิจในระบบอื่นๆ ได้ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา

ทรัพยากรในทางเศรษฐกิจนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสามหมวดหลัก ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ในฐานะที่เป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Resource) ซึ่งประกอบด้วย ทุน เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource) อันได้แก่ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น ที่ดิน เป็นต้น

เศรษฐกิจในยุคเกษตรกรรม ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ไม่ด้อยไปกว่าทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจในยุคอุตสาหกรรม ที่ดินจะมีความสำคัญลดน้อยลง เพราะทำหน้าที่เป็นเพียงที่ตั้งโรงงานหรือสถานที่ให้บริการ ทรัพยากรที่สำคัญจึงมีเพียงทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เครื่องจักร เทคโนโลยี และการจัดการ จนทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น ที่ดิน และพลังงาน นั้น สามารถผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุน หรือสามารถใช้เงินซื้อทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ได้ และหากอธิบายในลักษณะเดียวกันนี้กับทรัพยากรมนุษย์ ก็จะพบว่า แรงงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ ก็สามารถซื้อได้ด้วยเงินเช่นกัน ทำให้ทรัพยากรที่สำคัญในทางเศรษฐกิจจริงๆ มีเพียงปัจจัยเดียวคือ ทุน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้พัฒนาจนมีทุนเป็นปัจจัยเด่นและสำคัญเพียงปัจจัยเดียว ซึ่งสิ่งนี้คือ รากฐานความคิดที่สำคัญของระบบทุนนิยม (Capitalism)

ปัญหาของการไม่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรอื่นๆ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย กล่าวคือ เมื่อต้องการผลิตก็สามารถซื้อหาทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ในกระบวนการผลิตได้ทุกเวลา โดยมิได้คำนึงว่าทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานเกินขีดความสามารถที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ พร้อมๆ กันกับสร้างมลภาวะและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาของโลกปัจจุบัน

ปัญหาในเรื่องทรัพยากรมนุษย์อีกประการหนึ่ง คือ การละเลยความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่ประกอบด้วยแรงงานและแรงสมองในองค์รวม ทำให้ทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจยุคสารสนเทศซึ่งพัฒนากลายมาเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักนั้น ได้พยายามแปลงแรงสมองให้ออกมาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีในรูปของลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรที่สามารถจับต้องและถ่ายโอนได้ โดยนับรวมเข้าเป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถซื้อหาได้ด้วยเงิน ทำให้ยิ่งไปเน้นความสำคัญของทุนให้กลายเป็นปัจจัยหลักมากขึ้นไปอีก

ผลของการละเลยความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ในองค์รวม ทำให้สามารถทดแทนทรัพยากรแรงงานด้วยเครื่องจักร และทดแทนทรัพยากรแรงสมองด้วยเอกสารสิทธิ์ทางปัญญา ที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน ผนวกกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างไม่จำกัดเสมือนกับเป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นได้เองและซื้อหาได้เมื่อต้องการ จึงเป็นบ่อเกิดของเศรษฐกิจที่เน้นวัตถุเป็นหลัก หรือเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานวัตถุนิยม (Materialism) และกลายเป็นว่า ในสังคมปัจจุบันนี้ เงินมีความสำคัญกว่าทรัพยากรอื่นใดทั้งปวง

การให้ความสำคัญกับทุนในเศรษฐกิจกระแสหลัก ยังก่อให้เกิดผลต่อเนื่องอีกสองประการ ประการแรก คือความสามารถในการซื้อหาทรัพยากรจากภายนอก โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นก่อน หากพบว่าต้นทุนของทรัพยากรภายนอกนั้นต่ำกว่า จึงเป็นที่มาของการย้ายฐานการผลิตจากสถานที่หรือประเทศที่มีต้นทุนทรัพยากรสูงไปสู่สถานที่หรือประเทศที่มีต้นทุนทรัพยากรต่ำ หรือการนำเข้าของแรงงานราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ และประการที่สอง คือเป้าหมายในการผลิตจะต้องสร้างผลผลิตสูงสุดเพื่อจำหน่ายให้ได้กำไรสูงสุดแทนที่จะเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคเอง ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการสะสมทุนที่จะใช้เป็นทรัพยากรการผลิตในครั้งต่อไป จึงเป็นที่มาของแนวคิดการแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize Profit) ขององค์กรธุรกิจในโลกปัจจุบัน

ขณะที่แนวคิดในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ให้หลักไว้ว่า การกระทำของมนุษย์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียสุขภาวะของตัวเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนไม่ทำให้เสียคุณภาพของระบบนิเวศหรือธรรมชาติแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงจึงเน้นให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติไม่ด้อยไปกว่าทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งรวมถึงทุนที่เป็นปัจจัยหลักในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้ปฏิเสธความสำคัญของทุน แต่เป็นการเสนอให้พิจารณาความสำคัญของทรัพยากรต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล อย่างมีความสมดุล และประการสำคัญ คือ ต้องมีความระมัดระวังที่จะไม่ดำเนินกิจกรรมไปในทางที่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น เพราะท้ายที่สุดแล้ว ตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือในระบบเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบเสียหายตามไปด้วย

ตัวอย่างหนึ่งของการพิจารณาให้ความสำคัญกับทุนเป็นเรื่องรอง ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมในทางเศรษฐกิจที่เริ่มต้นด้วยการแสวงหาทรัพยากรจากภายในซึ่งสามารถหาได้จากในกลุ่มหรือภายในท้องถิ่นก่อนที่จะพิจารณาใช้ทรัพยากรจากภายนอกซึ่งไม่สามารถหาได้จากในกลุ่มหรือภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามหลักของการพึ่งตนเอง รวมถึงไม่สร้างภาระจากการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกมากเกินไปจนขาดภูมิคุ้มกันที่อาจก่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและนำไปสู่ความทุกข์ยากในภายหลัง


[Original Link]



2 ความคิดเห็น:

Blogger zetendra said...

เป็นยุทธวิธีที่ลึกซึ้งมาก ขอบคุณสำหรับคำอธิบายครับผม

11:10 AM  
Blogger Unknown said...

เราจะทำอย่างไรให้ประชาชน/คนรุ่นใหม่ๆเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกสังคมทำได้จริง และทำอย่างไรจะส่งเสริมให้มีการลงมือปฏิบัติจริง

3:44 PM  

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์