Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

พอเพียงแล้วห้ามกู้เงินหรือไม่


คำถามหนึ่งที่ถูกถามบ่อยมาก คือ ทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วห้ามกู้เงินหรือเปล่า หรือมีหนี้ไม่ได้หรือเปล่า ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2542 มีใจความว่า

“แต่ว่าพอเพียง ในทฤษฎีหลวงคือ ให้สามารถดำเนินงานได้ แต่ที่ว่าเมืองไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง นี่ไม่ได้ตำหนิ ไม่เคยพูด นี่พูดในตอนนี้ พูดเวลานี้ ขณะนี้ว่าประเทศไทย ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ค่อนข้างจะแย่ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม เศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงนี้ คือว่า อย่างคนที่ทำธุรกิจ ก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจ หรือกิจการอุตสาหการสมัยใหม่นี้ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจการ กิจกรรมที่ใหญ่ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้กิจกรรมที่ใหญ่”

เศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงนี้ คือ อย่างคนที่ทำธุรกิจก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจ หรือกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาดำเนินการเองได้ทั้งหมด ธุรกิจขนาดใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกู้ยืมเงินมาดำเนินกิจการได้ ฉะนั้น ชัดเจนว่าเศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการกู้เงิน หรือการสร้างหนี้ และยังมีพระราชดำรัสองค์ที่อัญเชิญต่อมา อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ ... อันนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์”

การก่อหนี้หรือการยืมเงินจากภายนอกเข้ามาจะต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ และไม่นำไปใช้ในสิ่งที่ฟุ่มเฟื่อย สุรุ่ยสุร่าย หรือใช้เพื่อการบริโภคใช้สอยในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น ฉะนั้น เงินที่กู้มานั้น ต้องทำให้เป็น Performing Loan คือ เอามาใช้เพื่อสร้างเสริมอาชีพ ไม่ใช่กู้เพื่อไปซื้อมอเตอร์ไซค์มาขี่เที่ยวอวดโก้ หรือซื้อมือถือมาเพื่อคุยเล่นเพลิดเพลิน อันนี้ จะหมิ่นเหม่หรือเสี่ยงต่อการขาดภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

แม้เศรษฐกิจพอเพียงจะมิได้ปฏิเสธเรื่องของการกู้ยืมเงิน แต่ก็ทราบดีว่า คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องหนี้สินมากกว่าที่คิด เพราะสังคมในทุกวันนี้เป็นสังคมที่กระตุ้นเรื่องของการบริโภค ซ้ำยังมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ออกมาเกื้อหนุนให้ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยให้มีอุปสรรคน้อยที่สุด ในองค์กรหลายๆ แห่ง จึงมีพนักงานที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตมากมาย อันที่จริงแล้ว การมีบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องที่ขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่การพิจารณาตัดสินใจใช้จ่ายในสิ่งของแต่ละรายการในบัตรเครดิตนั้นต่างหาก ที่จะเป็นหรือไม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง

หลายคนอาจทักท้วงว่า การที่ต้องมานั่งคิดในทุกกรณี หรือพิจารณาทุกครั้งที่ใช้จ่ายในแต่ละรายการ ไม่เครียดหรือตึงเกินไปหรือ กรณีนี้เราคงต้องถามตัวเองกลับว่า การที่เราไม่อยากเครียดกับการที่ต้องมาพิจารณาทุกๆ รายการก่อนใช้จ่าย แล้วผลสุดท้ายเป็นหนี้สะสมพอกพูนไปเรื่อยๆ จะเครียดมากกว่าไหม จ่ายเงินต้นไม่ได้หมด ก็ขอผ่อนทีละ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยทบต้นไม่รู้เท่าไร สุดท้ายแล้ว ก็ต้องเครียดเหมือนกันหรืออาจเครียดมากกว่าหลายเท่า

ฉะนั้น การเลือกเครียดหรือมีความระมัดระวังในการพิจารณาใช้จ่ายแต่ทีแรกเพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสุขทีหลัง ย่อมดีกว่ามีความสุขความสบายแต่ทีแรก แล้วต้องมาทุกข์ทีหลัง การพิจารณาเช่นนี้ แม้จะถือว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่หากเรื่องปลีกย่อยยังทำไม่ถูก เรื่องใหญ่ๆ ก็คงไม่ถูกเหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ควรอย่าละเลย หลายๆ ปลีกย่อยรวมกัน จะกลายเป็นก้อนใหญ่ และกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้

ดังนี้แล้ว วิธีการบริหารเงินก็ดี การกู้เงินก็ดี ก็ต้องเริ่มพิจารณากันเลยว่า ตัวเองสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรีรอ ไม่ต้องรอให้หน่วยงานหรือองค์กรใดมาประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไปจะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับท่าน หรือรอให้มีโครงการที่ท่านสามารถเข้าร่วมได้ อย่างนี้ไม่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงในมุมของปัจเจกบุคคลไม่ต้องรอ เราสามารถที่จะนำปรัชญาไปประยุกต์ใช้ในเรื่องชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน และมีความเข้มแข็งในที่สุด


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์