Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียงมีไว้สำหรับเกษตรกรเท่านั้นหรือ


เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานมาจากแนวคิดในการสร้างความ “พอมี” “พอกิน-พอใช้” ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากไร้ขัดสน ยังมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น การพัฒนาประเทศก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับคนทุกกลุ่ม มิใช่แค่เกษตรกร
การสร้างความ “พอกิน-พอใช้” ในเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มุ่งไปที่ประชาชนในทุกกลุ่มสาขาอาชีพที่ยังมีชีวิตอย่าง “ไม่พอกิน-ไม่พอใช้” หรือยังไม่พอเพียง ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงคนชนบทหรือเกษตรกร เป็นแต่เพียงว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังยากจนนั้น มีอาชีพเกษตรกรมากกว่าสาขาอาชีพอื่น ทำให้ความสำคัญลำดับแรกจึงมุ่งเข้าสู่ภาคเกษตรหรือชนบทที่แร้นแค้น จนมีรูปธรรมของการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกมาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่อันเป็นที่ประจักษ์ในความสำเร็จของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ “พอมี” “พอกิน-พอใช้” หรือสามารถพึ่งตนเองได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ปัจจุบัน คนในสังคมเมืองกำลังมีชีวิตอย่าง “ไม่พอกิน-ไม่พอใช้” ต้องประสบกับปัญหาหนี้สินจากการบริโภคไม่เป็น เกิดเป็นความเครียด ความบีบคั้นทางจิตใจ ที่แม้จะมีสาธารณูปโภคหรือเครื่องอำนวยความสะดวกที่เจริญกว่า แต่ก็เป็นความยากจนรูปแบบหนึ่งตามนิยามของความยากจนที่แปลว่า “เข็ญใจ (ด้านจิตใจ) ไร้ทรัพย์ (ด้านวัตถุ)” ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสภาพ “ไม่พอกิน-ไม่พอใช้” ของคนชนบทแต่ประการใด การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองจึงต้องสร้างให้เกิดความ “พอมี” “พอกิน-พอใช้” อันเป็นรากฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

ฉะนั้น ทัศนคติที่ว่า ฐานะหรือรายได้ตอนนี้ยังไม่พอเพียงเลย แล้วจะให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้อย่างไร จึงไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม การดำเนินวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนี้แหละ ก็คือ การพลิกจาก “ความไม่พอเพียง” ให้เกิดเป็น “ความพอเพียง” ในชีวิต


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์