Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ความพอเพียงใช้ได้กับคนทุกระดับหรือไม่


ใครที่ผ่านหน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 24 มักจะได้กลิ่นหอมของกล้วยแขกทอดที่ทอดจนเหลืองสวยและกรอบน่ากิน หลายคนคงอดใจไม่ไหวต้องซื้อกลับบ้านสัก 10-20 บาท ร้านกล้วยแขก หรือจะเรียกให้ถูกคือ รถเข็นกล้วยแขกของแม่ค้าที่ชื่อ “ไข่เจียว” ซึ่งยึดอาชีพขายกล้วยแขกหน้าปากซอยนี้มานานถึง 15 ปี จึงได้ลูกค้าขาประจำมากมาย ทั้งที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนที่อยู่ในแฟลตหรือสาวออฟฟิศ เนื่องจากความอร่อย สะอาดและราคาไม่แพงแล้ว แม่ค้ายังมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม

อาชีพ “หาบเร่แผงลอย” เป็นอาชีพหลักของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส แต่สามารถประกอบอาชีพที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ อาชีพหาบเร่แผงลอยถือเป็นอาชีพในเศรษฐกิจนอกภาคทางการแต่กลับเป็นกลไกที่โอบอุ้มให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถอยู่ได้ในเมืองใหญ่

ความรู้คู่คุณธรรม...นำอาชีพ
หากมองอย่างผิวเผิน หาบเร่แผงลอย อาจเป็นเพียงวิถีชีวิตของคนทั่วไป แต่ทว่าภาพเหล่านี้คือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ เมื่อมองดูว่า กล้วยแต่ละหวีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาทำกล้วยแขกนั้นเดินทางมาจากสวนของเกษตรกรชาวสวนกล้วยสู่ตลาด และในที่สุดจึงได้แปรรูปมาเป็นกล้วยแขกที่บริโภคได้ทั้งผู้ที่กระเป๋าเบาและกระเป๋าหนัก สภาพการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของภาครัฐ เป็นธุรกิจนอกระบบที่เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจระดับมหภาคให้ดำเนินต่อไปได้

แม้ว่าอาชีพ หาบเร่แผงลอยจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคน “ในเมือง” แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบจะความสำเร็จสามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องเพราะขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจหลัก ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หาบเร่ แผงลอย ดำรงอยู่ได้ สามารถพิจารณาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม ความรับผิดชอบต่อลูกค้า และยืนอยู่บนความพอดี อาจพิจารณาจากวิธีการขายกล้วยแขกของ “ไข่เจียว” จะเห็นถึงการมีความรู้ในการทำกล้วยแขกเป็นอย่างดี การมีอัธยาศัยดี แต่งกายสุภาพ มีแหล่งวัตถุดิบที่มีราคาถูก สะอาด อร่อยและราคาไม่แพง มีทุนเป็นของตนเอง มีทำเลขายใกล้แหล่งชุมชนและมีการวางแผนทางการเงินที่ดี ไม่ใช้จ่ายเกินรายรับและพัวพันกับอบายมุข เป็นแนวทางที่แม่ค้ากล้วยแขกรายนี้ยึดปฏิบัติมาตลอด 15 ปี

ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ...สร้างภูมิคุ้มกัน..ประมาณตน..บนวิถีพอเพียง
แม้รายได้จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่หากไม่มีการจัดการเงินอย่างถูกวิธีก็อาจเกิดก่อให้ความเกิดความเดือดร้อนได้ “เราไม่ได้ทำงานมีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการรองรับ จึงต้องมีออมเงินสำหรับไว้ใช้ในอนาคต โดยจะแบ่งเงินเป็น 4 ส่วนในแต่ละเดือน ใช้ 3 ส่วน และเก็บ 1 ส่วน อาจไม่ใช่เงินจำนวนมากแต่จะออมไว้หลายที่ ทั้งกลุ่มออมทรัพย์ที่บ้านในต่างจังหวัด เครดิตยูเนียนศูนย์กลางเทวา และธนาคารอีก 2 บัญชี การซื้อข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จะซื้อมาครั้งละมากๆ เพราะว่าถ้าไปบ่อยก็เสียค่าเดินทาง และเมื่อซื้อเยอะราคาก็ถูกลงด้วย” สะท้อนวิธีคิดที่รู้จักเก็บออม

หาบเร่ แผงลอย ส่วนใหญ่เป็นที่พึ่งของคนที่มีรายได้น้อยและปานกลางซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร ประกอบกับวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยที่เน้นความสะดวกและเรียบง่ายจึงทำให้อาชีพหาบเร่แผงลอยอยู่คู่กับสังคมคนกรุงเทพฯมายาวนาน และบางส่วนมีวิถีชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง

การดำเนินชีวิตของพ่อค้าแม่ค้า ทำให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้เป็นระยะเวลานานด้วยความใส่ใจในคุณภาพ ความสะอาด การไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า รวมไปถึงการศึกษาความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อนำกลับมาปรับปรุงสินค้าของตนให้ดียิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงการมีเงื่อนไขความรู้ และคุณธรรมเป็นเครื่องนำทางในการประกอบอาชีพ และยังพบว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยการออม การยึดหลักเครือข่ายทางสังคม โดยที่ยังยึดหลักพึ่งตนเองเป็นสำคัญ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขับเคลื่อนไปได้

(ข้อมูลจากโครงการศึกษาเศรษฐกิจนอกภาคทางการในเขตเมืองเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต - www.sedb.org)

[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์