Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

สร้างภูมิคุ้มกันท้องถิ่นได้อย่างไรบ้าง


ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และเงินบาท การไม่มีเงินบาทเป็นอุปสรรคในการผลิตและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นผ่านราคาสินค้าที่ชุมชนต้องซื้อหาจากภายนอก ทั้งๆ ที่ในแต่ละชุมชนยังคงมีปัจจัยในการดำรงชีพและการผลิต เช่น วัตถุดิบตามธรรมชาติและแรงงาน สมาชิกในชุมชนแต่ละคนได้รับข้อมูลความต้องการสินค้าจากสัญญาณราคาตลาดเหมือนกัน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเหมือนๆ กัน และมักเป็นการผลิตเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยง ในปัจจุบัน แม้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น แต่สมาชิกในชุมชนก็มีรายจ่ายสูง เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินเพิ่มพูน

การสร้างระบบแลกเปลี่ยนย่อยๆ ขึ้นมาในท้องถิ่นจะทำให้เกิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น เป็นการให้ข้อมูลความต้องการสินค้าในท้องถิ่น กระตุ้นการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองในชุมชนและช่วยสมาชิกออมเงินบาท ภายใต้ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน สมาชิกสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจของผู้ซื้อผู้ขาย การได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันในชุมชนช่วยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในชุมชนทำให้เกิดความอาทรเกื้อกูลกัน เป็นพลังสู่ความร่วมมือในการทำกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน

วิธีการแลกเปลี่ยน : ภูมิคุ้มกันชุมชน
ปัจจุบันโครงการมีกลุ่มต้นแบบที่ทดลองจัดระบบแลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ 10 กลุ่ม และกลุ่มเครือข่าย 40 กลุ่ม ใน 13 จังหวัด ทั่วประเทศ

กลุ่มวังตอตั้ง อำเภอหนองบัวแดง และกลุ่มสวรรค์บ้านดิน อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการสร้างบ้านดินกับการทำไม้กวาด แลกเปลี่ยนการใช้แรงงานในการสร้างบ้านดินที่บ้านวังตอตั้งกับการปลูกและเกี่ยวข้าวไร่ที่สวรรค์บ้านดิน ชาวบ้านได้บ้านได้ข้าวพออยู่พอกิน การช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกันเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลน

กลุ่มแม่บ้านมิตรภาพ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงร้านค้าชุมชนกับการจัดสวัสดิการในชุมชน โดยกลุ่มจัดให้มีการดูแลผู้ป่วย การสอนศาสนา โดยผู้ช่วยเหลืองานสาธารณะได้รับของใช้จำเป็นจากร้านค้าเป็นการตอบแทน เด็กๆมีการหยอดกระปุกออมทรัพย์ แลกขยะกับสิ่งของที่ร้านค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มใช้ระบบแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือจัดสวัสดิการโดยชุมชน

ตลาดแลกเปลี่ยนในท้องถิ่นผู้ซื้อผู้ขายรู้จักกัน และเข้าใจวิถีชีวิตความจำเป็นของกันและกัน ทำให้เกิดตลาดที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบกัน สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมน้ำใจเกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ได้อาหารสด รสอร่อย และปลอดภัยกว่าอาหารถุงที่ต้องไปซื้อภายนอก

ช่างจักสานที่บ้านเขาน้อย พิษณุโลก รื้อฟื้นฝีมือในการสานตะกร้าและข้องจับปลาเพื่อแลกเปลี่ยนข้าวสารจากเพื่อนบ้านไว้บริโภคได้ทั้งปี ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปขายสินค้าที่ตลาดภายนอก กลุ่มบ้านกล้วยและกลุ่มท่าระบาด อำเภอเมืองจังหวัดชัยนาท กลุ่มวัดเทวดาราม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มเครือข่ายอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ สนับสนุนให้สมาชิกและเด็กๆ ทดลองผลิตของใช้จำเป็นที่แตกต่างกันเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตที่แตกต่างจากคนอื่น แบ่งงานกันทำในชุมชน ลดการใช้เงินบาท

กลุ่มเพื่อนเสี่ยวเกลอ เป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เป็นที่ระบายสินค้า ลดแรงกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดภายนอก เกิดเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจชุมชน ที่สำคัญกว่าสิ่งของที่ได้มาจากแลกเปลี่ยน คือ การได้เพื่อนที่คอยช่วยเหลือกัน เป็นภูมิคุ้มกัน หรือเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่มีพลังและยั่งยืน

วิธีการแลกเปลี่ยน : ความพอประมาณและมีเหตุมีผล
การเปลี่ยนวิถีการบริโภคให้พอประมาณ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่กลุ่มชุมชนพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการใช้คูปองเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน สมาชิกนำเงินหรือผลผลิตมาแลกคูปองที่ร้านค้าชุมชนเท่ากับวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน คูปองที่แลกได้ ใช้ซื้อสินค้าที่ร้านค้าชุมชน ซื้อปุ๋ยจากสมาชิก หรือจ่ายเป็นค่าตอบแทนแรงงานเพื่อนบ้าน และที่ร้านค้าชุมชนไม่จำหน่ายสิ่งที่เป็นอบายมุข

ตลาดนัดของแลกของที่กลุ่มบ้านเขาน้อย อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกและกลุ่มบ้านหนองอ้อ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีฟื้นฟูจิตสำนึกของการให้ และการแลกเปลี่ยนโดยไม่ยึดติดกับมูลค่าไม่ยึดติดกับเงินตรา จิตสำนึกดังกล่าว คือ การเปลี่ยนวิธีคิด วิถีการดำรงชีวิตโดยกินอยู่อย่างพอประมาณและเอื้ออาทรกัน

ที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์เมืองปราสาท วัดโนนตากลาง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา สมาชิกนำมูลสัตว์มาแลกคูปอง มูลสัตว์นำไปใช้ผลิตปุ๋ยชีวภาพของกลุ่ม และคูปองนำมาแลกเปลี่ยนปุ๋ย หรือ อาหารในชุมชนได้ ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างสมเหตุสมผล เกิดประโยชน์ และตอบสนองความต้องการในชุมชน

การแลกเปลี่ยนโดยการหักบัญชีใช้เป็นเครื่องมือในการรวมซื้อวัตถุดิบและรวมขายผลผลิตได้ เกิดการประหยัดต่อขนาด ช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนการตลาดของสมาชิกแต่ละคน และลดความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนของสมาชิกและของกลุ่ม เป็นการประกอบธุรกิจชุมชนอย่างพอประมาณและสมเหตุสมผล ดังเช่น ที่กลุ่มทอผ้าบ้านวังทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และกลุ่มกรงนกและผู้ผลิตหัวกรงนก อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ศักยภาพของการแลกเปลี่ยนที่จะสร้างความพอประมาณ และความมีเหตุมีผล ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะใช้การแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการบริโภคและการผลิต ตลอดจนการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด อุดมการณ์ระหว่างสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ

(ข้อมูลจากโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง และฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต - www.sedb.org)

[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์