Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเอง ใช่หรือไม่


จนถึงวันนี้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ก็ยังเข้าใจว่า พอเพียง คือ การพึ่งตนเอง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Self-sufficiency แต่คำว่า พอเพียง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับคำว่า Sufficiency Economy นั้น มีความหมายกว้างกว่าแค่การพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร และมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ ดังนี้

(๑) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่หนึ่ง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ความต้องการในปัจจัยสี่ของตนเองและครอบครัวได้ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกลมเกลียว และมีความพอเพียงในการดําเนินชีวิตด้วยการประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น จนสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งทางกายและใจ

(๒) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สอง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับกลุ่มหรือองค์กร คือ เมื่อบุคคล/ครอบครัว มีความพอเพียงในระดับที่หนึ่งแล้ว ก็จะรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน

(๓) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สาม เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับเครือข่าย คือ เมื่อกลุ่มหรือองค์กร มีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสร้างเครือข่าย มีการติดต่อร่วมมือกับธนาคารและบริษัทต่างๆ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การตลาด การจำหน่าย และการบริหารจัดการ เพื่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

ระดับของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ
ในทางธุรกิจ ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถที่จะแบ่งออกเป็น ๓ ระดับเช่นกัน โดยในระดับแรก เป็นความพอเพียงในระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ สามารถพัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ (Independent) ดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเองได้ มีรายรับที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ปราศจากภาระหนี้สิน หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือเมื่อเจ้าหนี้ทวงถามโดยชอบ เมื่อพิจารณาเทียบกับทุนหรือรายรับของกิจการ มีการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) โดยยึดหลักของความถูกต้อง มีคุณธรรม และโปร่งใส จัดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน

ในระดับที่สอง เป็นความพอเพียงในระดับกลุ่มธุรกิจ จัดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจการร่วมค้า (Joint Venture) สหพันธ์ธุรกิจ (Consortium) เพื่อต้องการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจร่วมกัน ด้วยการแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรในกิจการร่วมกัน หรือการรวมกลุ่มในแนวดิ่งตามสายอุปทาน (Supply Chain) เพื่อการสร้างประสิทธิภาพและการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการควบรวมหน่วยธุรกิจในสายอุปทานนั้นๆ ตลอดจนการรวมกลุ่มในลักษณะสมาคมการค้า (Association) เพื่อการรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ทั้งนี้ การรวมกลุ่มในระดับที่สองนี้ จะต้องเป็นไปเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตน จึงจะสามารถทำให้กลุ่มในรูปแบบต่างๆ ดังที่กล่าวมา เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

ในระดับที่สาม เป็นความพอเพียงในระดับเครือข่าย จัดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มในแนวราบในลักษณะของเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ กับหน่วยอื่นๆ ในสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาภายใต้รูปแบบของการพึ่งพิงอิงกัน (Inter-dependent) สงเคราะห์เกื้อกูล มีจริยธรรม มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ร่วมกัน ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายได้รับประโยชน์กันโดยถ้วนหน้า


[Original Link]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

<< กลับสู่รายการคำถาม

หมายเหตุ: เพื่อคงไว้ซึ่งสาระและประโยชน์ของเว็บนี้ให้มากที่สุด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการกลั่นกรองความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สร้างสรรค์